มุมสุขภาพในครั้งนี้ ขอเสนอเรื่องของการออกกำลังกาย
(Exercise) ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์เรา
โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิค (Aerobic Exercise)
ในชีวิตประจำวันของผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน
ส่วนใหญ่มักจะบอกเสมอว่าไม่มีเวลาออกำลังกาย เพราะต้องทำงานประจำ
แต่อย่าลืมว่าการออกกำลังกายมีความสำคัญที่จะทำให้สุขภาพของท่านสมบูรณ์แข็ง
แรง เช่นเดียวกับอาหารที่รับประทานและน้ำที่ดื่มเข้าสู่ร่างกาย
การออกกำลังกายแบบแอโรบิค เป็นการออกกำลังกายที่มีระยะเวลานานพอสมควร คำว่า “ Aerobics” มาจากรากศัพท์กรีกโบราณที่แปลว่า “ อากาศกับชีวิต” (Air life)
ซึ่งแสดงนัยว่า ต้องมีก๊าซออกซิเจน (Oxygen) เกี่ยวข้องด้วยเสมอ
จึงหมายถึงความต้องการอากาศของสิ่งมีชีวิตในการดำเนินชีวิตให้อยู่ได้นั่น
เอง
ได้มีการให้ความหมายของการออกกำลังกายแบบแอโรบิคไว้
โดยหน่วยงานหลายหน่วยงาน เช่น The American College of Sports
Medicine (ACSM) ได้ให้ความหมายว่า “ การออกกำลังกายแบบแอโรบิคเป็นกิจกรรมที่มีการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้ได้ต่อเนื่อง และเน้นจังหวะอย่างสม่ำเสมอ” (any activity that uses large muscle groups, can be maintained continuously, and is rhythmic in nature) ซึ่ง
เป็นวิธีการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจและปอดของมนุษย์มีการทำงานมากขึ้น
มากกว่าการทำงานในขณะพัก จากหลักการนี้
ทำให้ได้แนวความคิดสำคัญในการออกกำลังกายสมัยใหม่ โดยมีกิจกรรมต่างๆ
ที่จัดว่าเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิค โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ
การเพิ่มและรักษาอัตราการเต้นของหัวใจในช่วงเวลาหนึ่ง
ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางไปสู่การมีสุขภาพอนามัยที่ดี
ในการออกกำลังกายแบบแอโรบิคนี้
ร่างกายจะใช้สารอาหารที่สำคัญ คือ คาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า
“ไกลโคเจน” (Glycogen) ไขมัน (lipid) และโปรตีน (Protein)
เป็นแหล่งพลังงาน โดยใช้จากคาร์โบไฮเดรตก่อน จากนั้นจึงจะใช้จากไขมัน
สังเกตุได้จากการวิ่งทางไกลของนักวิ่ง ที่จะต้องหายใจทางปาก ทั้งนี้
เพราะร่างกายเริ่มเผาผลาญสารอาหารพวกไขมันให้เกิดพลังงาน
จำเป็นต้องใช้ก๊าซออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น จึงต้องอ้าปากหายใจแรงและลึก
เพื่อนำเอาออกซิเจนไปช่วยในการเผาผลาญไขมันให้ได้พลังงานมากที่สุด
มีคำถามว่า “การออกกำลังกายแบบแอโรบิคนั้นทำแค่ไหนจึงจะพอดี” นั่นคือ ควรทำต่อเนื่องกัน อย่าทำๆ หยุด ๆ และต้องหนักพอ และนานพอ ดังนี้
1. หนักพอ คือ
ให้ออกกำลังกายให้หนักประมาณ 70 - 75 %
ของความสามารถสูงสุดของอัตราการเต้นของหัวใจของแต่ละบุคคล
ซึ่งจะดูได้จากการจับชีพจร (ที่ข้อมือหรือที่คอ)
ชีพจรต้องเต้นจนถึงขนาดกำหนดตามอายุของแต่ละบุคคล (หากอายุมากขึ้น
จะมีชีพจรสูงสุดในการทำงานลดลง ) จึงจะถือว่าการออกกำลังกายนั้นเพียงพอ
ตัวอย่างเช่น
ในการคำนวณหาความสามารถสูงสุด = 220 - อายุ เช่น คนอายุ 25 ปี มีความสามารถสูงสุด = 220 - 25 = 195 และ 70 -75 % ของ 195 = 136 - 140 ครั้ง ต่อนาที
ในการคำนวณหาความสามารถสูงสุด = 220 - อายุ เช่น คนอายุ 25 ปี มีความสามารถสูงสุด = 220 - 25 = 195 และ 70 -75 % ของ 195 = 136 - 140 ครั้ง ต่อนาที
2. นานพอ เมื่อรู้สึกว่าหนักพอแค่
ไหนแล้ว นานพอก็ง่ายขึ้น คือ
เมื่อออกกำลังกายจนชีพจรขึ้นไปถึงระดับที่กำหนดแล้ว
ก็ทำติดต่อกันไปเรื่อยๆ โดยคงชีพจรไว้อย่างน้อยระดับนี้ เป็นเวลา 15 -20
นาที ก็ใช้ได้
ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายได้ใช้อ๊อกซิเจนไปช่วยเผาผลาญให้เกิดพลังงานที่เรียก
ว่า “แอโรบิค” นั่นเอง
การออกกำลังกายแบบแอโรบิคนั้นจะช่วยให้ร่างกายใช้
พลังงานสูงขึ้น หัวใจและปอดทำงานเพิ่มขึ้น
จึงทำให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ดังนี้
- สุขภาพทั่วไปแข็งแรงสมบูรณ์ขึ้น ทำให้มีเรี่ยวแรงต่อสู้กับกิจการงานไม่เหนื่อยอ่อนเพลีย
- อาหารย่อยได้ดีขึ้น อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยว อาหารไม่ย่อยจะหมดไป
- ขับถ่ายสบาย ท้องไม่ผูก
- นอนหลับง่ายและหลับได้สนิทขึ้น
- ลดความเครียด ความวิตกกังวล และอารมณ์ซึมเคร้า หรืออาการประสาทอื่น ๆ
- ทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่
- ทำให้ไม่อยากดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ
- สมรรถภาพทางเพศจะดีขึ้นทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ
- ลดความอ้วนได้ผลดีที่สุด
- ทำให้จิตใจสดชื่น แจ่มใส ปลอดโปร่ง อารมณ์เยือกเย็นมั่นคง
- ความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มขึ้น
- สติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น
- กระดูกแข็งแรงขึ้น แม้อายุจะมากขึ้นก็ตาม
- หัวใจแข็งแรงขึ้น เป็นวิธีป้องกันโรคหัวใจที่ได้ผลดีที่สุด
- ช่วยฟื้นฟูสภาพหัวใจที่ผิดปกติ เช่น หลอดเลือดโคโรนารี ของหัวใจตีบตัน เป็นต้น
การเดินเร็วๆ การวิ่งเยาะ ๆ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน
แอโรบิกด๊านซ์ ฯลฯ จัดว่าเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกทั้งสิ้น
แต่ที่ดีที่สุดและประหยัดที่สุด คือ การวิ่ง หรือเดินเร็วๆ
เพราะร่างกายได้ทำงานทุกส่วน ไม่ต้องอาศัยเครื่องมือ
และได้รับอากาศบริสุทธิ์
อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายอาจก่อให้เกิดโทษได้ ถ้าทำไม่ถูกต้อง เช่น
- การออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสมกับอายุ เช่น ผู้สูงอายุควรใช้วิธีเดิน แทนที่จะไปเล่นเทนนิส แบดมินตัน ฯลฯ แม้แต่ผู้เล่นแทนนิสเท่านั้นเป็นประจำทุกวัน ยังอาจเป็นโรคหัวใจได้ ดังนั้น การออกกำลังกายต้องให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย และจิตใจ ดังจะเห็นได้ว่า การรำมวยจีนเป็นคณะ เป็นกลุ่ม จะเปิดโอกาสให้มีการพูดคุย มีเพื่อน แต่การเล่นกีฬาเพื่อแข่งขัน เพื่อจะเอาชนะ จะมีแต่ความเครียด
- การออกกำลังกายผิดเวลา เช่น เวลาอากาศร้อนจัด จะยิ่งทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น จนอาจเป็นลมชักได้ หรือหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ อาจเป็นโรคหัวใจได้ เพราะเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจขณะนั้นมีน้อย เป็นต้น
- การออกกำลังกายในช่วงไม่สบาย เช่น ในขณะที่ท้องเสีย ร่างกายจะขาดน้ำและเกลือแร่ จึงอาจทำให้อ่อนเพลีย เป็นลม เป็นตะคริวได้ เวลาเป็นไข้ ก็ไม่ควรออกกำลังกาย เพราะอาจทำให้เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถึงกับเสียชีวิตทันทีได้ ดังนั้น ถ้าไม่สบายไม่ว่าด้วยอาการใด ๆ ถึงแม้ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร ก็ควรยกเว้นการออกกำลังกายไว้ก่อน
- การออกกำลังกายโดยไม่อุ่นเครื่องหรือยืดเส้นยืดสาย จงจำไว้ว่า ก่อนการออกกำลังกายจะต้องมีขั้นตอนการอุ่นเครื่องหรือยืดเส้นยืดสาย (warm up) ทุกครั้ง เพื่อให้ร่างกายเตรียมความพร้อมเสียก่อน โดยไม่มีข้อยกเว้น
- การใช้อุปกรณ์กีฬาและสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น รองเท้า ความสั้น - ยาวของอุปกรณ์กีฬาที่ไม่เหมาะสมกับผู้เล่น รวมทั้งสถานที่ที่ไม่ใช่ลานกีฬาสำหรับการออกกำลังกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บได้
- การออกกำลังกายอย่างหักโหม เช่น ถ้าวิ่งเพื่อสุขภาพ วิ่งเพียงแค่ 20 นาทีก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็ต้องวิ่งถึง 1 ชั่วโมง เป็นต้น
หวังว่าทุกท่านคงสนใจในเรื่องการออกกำลังกายเพิ่มมาก
ขึ้น โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิคดังกล่าวแล้ว
เพื่อสุขภาพอนามัยของท่าน
และขอให้ชักชวนให้ทุกท่านออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเรื่อยไป....เรื่อยไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น